10 ขั้นตอนวัดความดันโลหิตด้วยตนเองให้ถูกต้องแม่นยำ

10 ขั้นตอนวัดความดันโลหิตด้วยตนเองให้ถูกต้องแม่นยำ

การวัดความดันโลหิตเป็นการวัดแรงดันของเลือดที่ไหลผ่านและกระทบกับผนังหลอดเลือดเป็นจังหวะ เป็นการวัดการทำงานของหัวใจ และแรงต้านส่วนปลายของหลอดเลือด มีการวัด 2 ค่า ได้แก่ ค่าความดันโลหิตตัวบน (Systolic Blood Pressure) คือ ค่าความดันโลหิตในหลอดเลือดที่เกิดขึ้นขณะที่หัวใจบีบตัว และ ค่าความดันโลหิตตัวล่าง (Diastolic Blood Pressure) คือ ค่าความดันของเลือดที่ขณะที่หัวใจคลายตัว มีหน่วยเป็น มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ในประเทศไทยกำหนด ค่าความดันโลหิตปกติ คือ ค่าตัวบนไม่เกิน 140 และตัวล่างไม่เกิน 90 มิลลิเมตรปรอท สำหรับความดันโลหิตสูงจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

  • ระดับที่ 1 ตัวบนเกิน 140 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 90 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 2 ตัวบนเกิน 160 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 100 มม.ปรอท
  • ระดับที่ 3 ตัวบนเกิน 180 มม.ปรอท หรือตัวล่างเกิน 110 มม.ปรอท

10 ขั้นตอนการวัดความดันโลหิต 

  1. นั่งพักสงบนิ่ง ผ่อนคลาย หายใจเข้าออกลึกๆ อย่างน้อย 5 นาที 
  2. วัดช่วงเช้าหลังจากตื่นนอน 1 ชั่วโมง เข้าห้องน้ำขับถ่ายให้เรียบร้อย อย่ากลั้นอุจจาระ ปัสสาวะขณะวัดความดัน วัดก่อนรับประทานอาหารเช้า และยาความดัน (กรณีที่ทานยาความดันเป็นประจำ) 
  3. ห้ามวัดความดัน เมื่อเกิดอาการตึงเครียด, ออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ, หลังรับประทานคาเฟอีน, เครื่องดื่มชูกำลัง,ดื่มอัลกอฮอลล์ หรือสูบบุหรี่ หากมีพฤติกรรมดังกล่าวให้ทิ้งช่วงอย่างน้อย 30 นาทีก่อนวัดความดัน  เพราะจะทำให้ค่าผิดเพี้ยน
  4. นั่งผ่อนคลายตัวตรงบนเก้าอี้ วางเท้าราบกับพื้น ไม่ไขว่ห้าง หรือไขว้ขาบิดตัว  
  5. คลายเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ใส่เสื้อผ้าหลวมๆ ไม่มีเครื่องประดับรัดรึงเพื่อให้เลือดไหวเวียนสะดวก ถกแขนเสื้อขึ้นให้ผ้ารัดแขนสัมผัสเนื้อแขนโดยตรง
  6. วางแขนระดับเดียวกับหัวใจ อาจหาหมอน หรือที่รองแขนรองให้แขนขนานกับพื้น และไม่ยึดเกร็ง
  7. เริ่มวัดจากชีพจร โดยวางนิ้วชี้ และนิ้วกลางตรงกลางที่พับข้อศอก จับเวลานับอัตราการเต้นของหัวใจ
  8. พันผ้ารอบต้นแขน ขอบล่างของผ้าอยู่เหนือพับข้อศอก 2.5 เซนติเมตร 
  9. กดปุ่ม start ที่เครื่องวัดความดัน (เครื่องวัดดิจิตอล) ปลอกแขนจะค่อยๆ รัดท่อนแขนจนแน่น สักพักจะค่อยคลายออกเองโดยอัตโนมัติ 
  10. บันทึกค่าที่หน้าจอ หลังจากที่ผ้ารัดแขนคลายออกเรียบร้อยแล้ว จดบันทึกค่าที่แสดงหน้าจอ 

กรณีที่มีกำหนดนัดพบแพทย์ รพ.จะมีเอกสารให้บันทึกค่าความดันไว้ล่วงหน้าประมาณ 7-10 วันแล้วแต่แพทย์สั่งเพื่อหาค่าเฉลี่ยความดันของร่างกาย

ความดันโลหิตสามารถสะท้อนความผิดปกติ และข้อบ่งชี้ในบางโรคที่เกี่ยวข้องได้ การวัดความดันที่บ้านต่อเนื่องกันทุกวัน วันละ 4 ครั้ง ทำให้ทราบค่าเฉลี่ยของความดันโลหิต ซึ่งดีกว่าการวัดครั้งเดียวที่โรงพยาบาลซึ่งพบว่า  1 ใน 3 ของผู้ป่วยจะมีค่าความดันที่บ้านต่างจากที่โรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยโรค และประเมินการรักษาของแพทย์ที่แม่นยำมากขึ้น