4 วิธีรับมือ เมื่อต้องร่วมงานกับคนที่เราไม่ชอบ

4 วิธีรับมือ เมื่อต้องร่วมงานกับคนที่เราไม่ชอบ

ในสังคมของการทำงาน เราต้องเจอกับเพื่อนร่วมงานที่ทั้งดีและไม่ดี ทั้งที่เราชอบและไม่ชอบ ถ้าเลือกได้เราก็อยากทำงานกับคนที่เราชอบเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง มีหลายต่อหลายครั้งที่เราต้องร่วมงานกับคนที่เราไม่ชอบ และไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรือมีความจำเป็นอันใดก็ตาม ที่ทำให้เราต้องมารับผิดชอบงานที่ทำร่วมกัน เราจะมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบนี้อย่างไร ลองมาเรียนรู้ 4 วิธีรับมือเมื่อต้องร่วมงานกับคนที่เราไม่ชอบกัน

อยู่ให้ห่าง เว้นช่องว่างระหว่างกันเข้าไว้
เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ไม่ชอบหรือไม่ถูกกัน ที่มักจะต่างคนต่างอยู่ไม่ยุ่งเกี่ยวกัน แต่ถ้าวันหนึ่งต้องมาทำงานร่วมกัน จากที่เคยต่างคนต่างอยู่ เว้นระยะห่างระหว่างกัน อาจจะใช้ไม่ได้เสียแล้วกับสถานการณ์แบบนี้ สิ่งที่คนทำงานแบบมืออาชีพเขาทำกันนั่นก็คือ ทำงานตามหน้าที่ที่ตัวเองรับผิดชอบไป และก็คุยเฉพาะที่จำเป็นต้องคุยเท่านั้น ไม่คุยนอกเรื่องเพราะอาจทำให้เกิดประเด็นปัญหาใหม่ เมื่อมีสิ่งที่ต้องพูดคุยรายละเอียดของงานหรือจะประชุม หรือมีประเด็นที่ต้องปรึกษากันก็คุยปกติ เมื่อได้คำตอบก็เดินออกมา นั่งทำงานตามหน้าที่ของเราต่อไป

แยกแยะระหว่างเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว
สิ่งสำคัญที่ทำให้คนที่เกลียดกัน ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้เลย นั่นก็คือ การไม่แยกแยะเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานออกจากกัน บางคนเกลียดกันเพราะเรื่องส่วนตัว แล้วก็พาลมามีปัญหาในเรื่องของงานตามไปด้วย ดังนั้น เมื่อต้องร่วมงานกัน เราต้องบอกตัวเองให้ได้ว่า แยกปัญหาที่เป็นเรื่องส่วนตัวออกจากเรื่องงานให้ได้ก่อน สิ่งไหนที่จำเป็นต้องคุยก็ต้องคุย อย่าเอาเรื่องอคติส่วนตัวมาผูกเข้ากับเรื่องงาน เราต้องแยกความรู้สึกออกให้ได้อย่างชัดเจน เพราะสิ่งนี้มันบ่งบอกถึงความเป็นมืออาชีพของตัวเราเอง

ไม่สนใจเรื่องอื่น โฟกัสแต่เรื่องงานอย่างเดียว
ไม่ว่าปัญหาระหว่างเรากับคนที่เราไม่ชอบ จะมีสาเหตุมาจากเรื่องใดก็ตาม หากต้องทำงาน ก็ตัดเรื่องความไม่ชอบใจไม่พอใจออกไป แล้วโฟกัสเฉพาะจุด สนใจแต่เนื้อหาของงานอย่างเดียวก็พอ เพื่อให้เราทำงานต่อไปได้ หากเราเอาเรื่องความไม่ชอบ ความเกลียดมาอยู่กับเราทุกขณะเสียแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือ ใจเราเองที่จะเป็นทุกข์ ซึ่งเราไม่รู้เลยว่าคนที่เราไม่ชอบนั้นเขาจะรู้ตัวไหมว่าเราไม่ชอบ เราอาจจะคิดและรู้สึกไปเองฝ่ายเดียวก็เป็นได้ คนที่ถูกเราเกลียดเขาอาจจะไม่รู้เสียด้วยซ้ำไปว่าเขาทำอะไรให้เราเกลียดชังเขา ให้เราพักความเกลียดชังนั้นลงก่อน เพื่อให้เป้าหมายของงานสำเร็จลุล่วง เผลอ ๆ การที่ต้องร่วมงานกันนี้อาจะทำให้ปมที่เป็นปัญหาระหว่างเรากับเพื่อนร่วมงานถูกคลี่คลายลงก็เป็นได้

กล้าเผชิญหน้า อย่างสุภาพ
การทำงานร่วมกัน เมื่อไม่เข้าใจหรือติดปัญหาตรงไหน เราต้องกล้าที่จะถาม หรือสิ่งไหนที่เรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราต้องกล้าทักท้วงต่อหน้าเขา พร้อมอธิบายเหตุผลในสิ่งที่เราคิด ด้วยท่าทีสุภาพ และน้ำเสียงที่นิ่ง ไม่ใส่อารมณ์เข้าไปในประโยคของการพูดคุย เพราะเมื่อไหร่ที่เอาอารมณ์เข้ามาด้วย คนฟังจะรับรู้ได้แต่อารมณ์ของเรา เขาจะไม่ได้ยินเหตุผลที่เราต้องการสื่อสารออกไปเลยแม้แต่นิดเดียว

การทำงานร่วมกับคนที่เราไม่ชอบนั้น จะต้องมีสิ่งที่ทำให้งานผ่านไปได้ด้วยดีนั่นก็คือ ความกล้าที่จะเผชิญหน้ากับคนที่เราไม่ชอบ ประสานงานทุกอย่างแบบตัวต่อตัว ไม่ใช้บุคคลอื่นมาเป็นตัวกลางในการสื่อสารแทน ทั้งนี้เพื่อช่วยลดปัญหาความเข้าใจผิดหรือการสื่อสารที่ผิดพลาด ยิ่งไม่ชอบหน้ายิ่งต้องคุยให้รู้เรื่อง และลงรายละเอียดจนเข้าใจ จะได้ไม่ต้องเข้าไปคุยหรือติดต่อกันหลายรอบ ยิ่งเกลียดกันมากแค่ไหนก็ยิ่งต้องคุยให้เข้าใจและจบอย่างรวดเร็วที่สุด และเราเองก็ต้องทำงานส่วนที่รับผิดชอบอย่างเต็มที่ จะได้ปิดโอกาสไม่ให้ใครมาจ้องเล่นงานเราได้ในภายหลัง